นอกจากไม้แล้ว หินคือวัสดุอีกชนิดที่นิยมนำมาใช้ตกแต่งที่พักอาศัย มีความแข็งแรงทนทาน และมีความสวยงามเฉพาะตัว ซึ่งหินแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติและความเหมาะสมในการใช้งานต่างกันออกไป และด้วยลวดลายที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของหินธรรมชาติ ผิวสัมผัสที่แตกต่างกันช่วยเพิ่มลูกเล่นสร้างความโดดเด่นให้กับงานดีไซน์ หินธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกของนักออกแบบที่ถูกนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานในหลายรูปแบบทั้งงานปูพื้น กรุผนังตกแต่ง หรือในงานเฟอร์นิเจอร์และอื่นๆ
1. หินทรายหรือหินสันทราย
เป็นหินตะกอน มีลักษณะหยาบสากเหมือนทราย มีรูพรุน มีหลากหลายสีเช่น สีแดง สีน้ำตาล สีเขียว สีเหลืองอ่อน ในประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี และทางภาคใต้บางแห่ง
ลักษณะการใช้งาน
นำไปใช้ตกแต่งผิวภายนอกเช่นพื้นหรือผนัง และยังสามารถใช้เป็นวัสดุในการทำถนน สร้างโบราณสถาน หรือแกะสลักรูปปั้น ซึ่งหินทรายมีทั้งที่เป็นกระเบื้องและนำมาตกแต่งเพื่อให้เกิดพื้นผิวในด้านหน้าตัด
การดูแลรักษา
เนื่องจากเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่ความชื้นสามารถเข้ามาในเนื้อวัสดุได้จึงมีโอกาสที่จะเกิดคราบตะไคร่หรือเชื้อราได้จึงควรทาน้ำยาป้องกันตะไคร่น้ำและเชื้อรา
2. หินแกรนิต
เป็นหินที่มีเนื้อหยาบหรือเป็นดอกผลึกเกาะกันแน่นเห็นได้ชัด มีความหนาแน่นและภายในไม่เป็นโพรง มีความแข็งแรง ไม่แตกง่ายทนทานต่อการขีดข่วนผุกร่อนและทนทานต่อแรงกระทำจากภายนอก พบได้ที่ภาคตะวันออก ภาคเหนือตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดตาก ภาคใต้บริเวณเขตแดนไทย-พม่า
ลักษณะการใช้งาน
สำหรับใช้ทำท็อปเคาน์เตอร์ครัว หรือปูพื้น หรือนำมาใช้เป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง จึงนับได้ว่าเป็นทั้งหินประดับและหินก่อสร้าง
การดูแลรักษา
เช็ดด้วยผ้าสะอาดและใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหินแกรนิตโดยเฉพาะ หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทผงซักฟอก น้ำยาขัดห้องน้ำ และน้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์เป็นกรด ตลอดจนน้ำมันก๊าดและน้ำมันมะกอก เพราะจะทำให้ผิวหินด้าน ไม่เงางาม
3. หิบกาบ
หินที่เกิดจากการทับถมกันของดินจนกลายเป็นชั้นหิน มีสีที่เด่นชัดคือสีเทาและสีน้ำตาล มีลักษณะแข็งแต่เปราะ แตกหักง่าย มีคุณสมบัติซึมซับน้ำได้ดี ทนทานต่อแดดและฝน พบได้ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาซึ่งเรียกว่าหินกาบภูเขา และแถบพัทยาเรียกว่าหินกาบทะเล ซึ่งหิบกาบภูเขาจะมีเนื้อค่อนข้างหยาบและมีความเปราะมากกว่าหินกาบทะเล
ลักษณะการใช้งาน
ใช้ในงานตกแต่งผนังทั้งภายในและภายนอก เนื่องจากมีความเปราะจึงไม่เหมาะสำหรับใช้เพื่อรองรับน้ำหนัก
การดูแลรักษา
หากนำไปใช้ตกแต่งในบริเวณที่เปียกน้ำบ่อยๆก็จำทำให้เกิดคราบตะไคร่ได้ สามารถป้องกันได้โดยทาน้ำยาป้องกันตะไคร่น้ำ
4. หินอ่อน
หินที่เกิดจากการตกผลึกตามธรรมชาติ เนื้อหินอ่อนมีแคลเซียมคาร์บอเนต(หินปูน) เป็นส่วนประกอบหลัก อาจมีเศษหิน ,เส้นคาร์บอน และสายแร่อื่นๆเจือปนรวมอยู่ด้วยในอัตราส่วนเล็กน้อย โทนสีจะมีหลากหลายสี เช่น สีขาว ,เทา ,น้ำตาล ,ชมพู ,เขียวผสมขาว ,สีชมพูเจือขาว ,สีขาวขุ่นมีเส้นสีเทาเจือเล็กๆ เป็นต้น เนื้อหินมีความหนาแน่นค่อนข้างมากแต่ก็ยังมีรูพรุนตามธรรมชาติ ไม่เก็บความร้อนแต่ชอบดูดซับความเย็น มีความทนทานแต่ไม่ทนต่อกรด ความร้อนของแสงแดดอาจทำให้สีซีดจาง หินอ่อนบางชนิดไม่ทนต่อไอเค็มทะเล พบมากทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และบางจังหวัดของภาคใต้ ในประเทศไทย
ลักษณะการใช้งาน
ใช้สำหรับใช้กรุผนัง ปูพื้น ทำท็อปโต๊ะ หรือแกะสลัก ไม่เหมาะกับการนำไปใช้ทำท็อปเคาน์เตอร์
การดูแลรักษา
ใช้ผ้าชุบน้ำแล้วเช็ดด้วยผ้าสะอาดแล้วเช็ดตามด้วยผ้าแห้ง หรือใช้น้ำยาสำหรับขัดหินอ่อน
5. กรวดล้าง ทรายล้าง
เป็นการใช้หิน กรวด ทราย มาผสมกับปูนซีเมนต์ขาวเพื่อให้พื้นผิวสัมผัสดูเป็นธรรมชาติ สามารถใช้ได้ทั้งงานตกแต่งพื้นได้ทั้งภายในและภายนอก มีความทนทานทั้งแดดและฝน เหมาะนำสามารถออกแบบลวดลายได้ตามต้องการ กรวดล้างมีหลายสีตั้งแต่สีเหลืองจนถึงเทาดำพบมากที่จังหวัดพัทลุง ส่วนทรายมีสีน้ำตาลล้างพบมากที่จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี
ลักษณะการใช้งาน
ใช้ทำผนัง พื้นส่วนทางเดิน บริเวณโดยรอบสระว่ายน้ำ หรือลาดกิจกรรมกลางแจ้ง
การดูแลรักษา
ควรทาน้ำยาเคลือบพื้นผิวเพื่อป้องกันตะไคร่น้ำ
6. หินภูเขา
เป็นหินที่มาจากการระเบิดภูเขา ประกอบเป็นด้วยแร่ต่างๆ ซึ่งหินมีเนื้อหินที่มีความแข็งแกร่งสูง แข็งแรงทนทานมีรูพรุนน้อย จึงไม่อมความชื้นและไม่ขึ้นราดำ ทนแดดและฝน ไม่กระเทาะออกง่าย ส่วนใหญ่จะมาจากจังหวัดสระบุรี
ลักษณะการใช้งาน
เคาะแต่งแล้วนำมาติดตั้งบนกำแพงให้เข้าตามรูปทรง โดยใช้ปูนเป็นตัวยึดเหนี่ยว
การดูแลรักษา
ทาน้ำยาเคลือบหินหรือขัดคราบสกปรกและตะไคร่น้ำ
7. หินศิลาแลง
โดยทั่วไปจะพบเห็นศิลาแลงอยู่บนผิวดินหรือใต้ผิวดินเพียงเล็กน้อย ศิลาแลงจึงจัดเป็นตะกอนพื้นผิวที่เป็นผลมาจากกระบวนการผุพังทางธรณีวิทยา และพบในประเทศที่อยู่ในมรสุมเขตร้อนเท่านั้น มีสีแดงถึงน้ำตาลแดง เมื่ออยู่ใต้ผิวดินจะมีความแข็งน้อย สามารถตัดให้เป็นก้อนได้ โดยใช้เครื่องมือที่ทำด้วยเหล็ก แต่เมื่อสัมผัสกับอากาศจะมีความแข็งเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสูญเสียความชื้นในดินเหนียวที่เป็นส่วนประกอบของศิลาแลง พบมากที่จังหวัดปราจีนบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย และตาก
ลักษณะการใช้งาน
ใช้ก่อสร้างโบราณสถาน,กำแพง,ตกแต่งสวนหรือปูพื้นทางเดิน
การดูแลรักษา
หลีกเลี่ยงการติดตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความชื้นมากจะทำให้เกิดเป็นคราบดำสกปรก
และนี่คือข้อมูลของหินธรรมชาติที่ใช้ในงานตกแต่งซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลในแบบสั้น กระชับ ได้ใจความมาแบ่งปันความรู้ให้กับทุกๆคน ในครั้งหน้าจะเป็นเรื่องอะไรฝากติดตามด้วยค่ะ