โครงสร้างของไม้เอนจิเนียริ่ง
Detail Design ในหัวข้อนี้จะพูดถึงลักษณะโครงสร้างของพื้นไม้เอนจิเนียริ่ง (Engineering Wood) ซึ่งโครงสร้างทางกายภาพของไม้ประเภทนี้ จะแยกออกได้เคร่าๆเป็นสามส่วนหลักๆ คือ
1. ส่วนที่เป็นแผ่นเยื่อไม้อัด ส่วนนี้จะเป็นส่วนด้านใต้ของแผ่นไม้ ถ้าเราหงายดูจะเห็นแผ่นไม้อัดที่มีความหนาประมาณ 1มิลลิเมตร เรียงตัวซ้อนทับกันประมาณ 6-8 ชั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพการผลิตของแต่ละบริษัท ยิ่งซ้อนกันมากไม้จะยิ่งมีความหนาและแข็งแรงขึ้น ส่วนนี้มีความสำคัญอย่างไร แผ่นไม้อัดส่วนนี้ส่วนใหญ่ผลิตจากไม้ยางพารา (ที่หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินช่างเฟอร์นิเจอร์เรียกไม้อัดยาง) ที่ให้สังเกตุจากภาพคือการวางทิศทางของเยื่อไม้ที่จะวางสลับกันของแต่ละชั้น ข้อดีของการวางแผ่นไม้อัดยางแบบนี้คือช่วยลดการยืดหดตัวของไม้ลงเพราะตัวมันเองจะยึดกันในแต่ละชั้นด้วยกาวคุณภาพดี ความสำคัญอีกอย่างของการใช้ไม้อัดยางไว้ด้านใต้แผ่นไม้เอนจิเนียริ่งก็คือลดการใช้ไม้จริงที่สวยงามในการตกแต่งลงได้เยอะเพราะวัตถุประสงค์ของการเลือกใช้ไม้จริงมาตกแต่งเพราะเราต้องการความสวยงามที่ผิวหน้าของไม้เท่านั้น ส่วนที่ถัดลงไปเราแทบจะไม่ได้ประโยชน์ด้านความสวยงามเลยเพราะเรามองไม่เห็น ( ลองคิดดูว่าถ้าเราใช้ไม้จริงหนาหนึ่งนิ้วมาปูพื้นได้หนึ่งตารางเมตร เราจะได้ไม้เอนจิเนียริ่งที่มีความหนาของไม้จริงด้านบนหนาสัก 5 มิลลิเมตร ได้เพิ่มขึ้นกี่ตารางเมตร )
2. ส่วนที่เป็นไม้จริงสำหรับตกแต่งสวยงาม ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ไว้โชว์ความสวยงามแล้วแต่ชนิดของไม้ ส่วนนี้มีข้อให้สังเกตคือความหนาของไม้จริงต้องมีความหนาพอสมควร ในท้องตลาดที่เจอก็จะมีความหนาแตกต่างกันไป 3 มิลลเมตรบ้าง 5 มิลลิเมตรบ้าง หรืออาจจะมีหนากว่านี้ซึ่งแน่นอนย่อมมีผลต่อราคาโดยตรง หากเป็นไปได้ควรเลือกที่มีความหนาของไม้สวยงามเยอะหน่อย (นึกถึงกระดาษเขียนภาพสีน้ำถ้าบางไปปาดพู่กันสองสามทีกระดาษก็เปื่อยยุ่ย เช่นกันถ้าส่วนที่เป็นไม้จริงบางเกินไปใช้งานไปนานๆคุณภาพย่อมสู้ไม้ที่มีความหนากว่าไม่ได้)
3. ส่วนที่เป็นวัสดุเคลือบผิว ส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนที่ปกป้องผิวเนื้อไม้และอาจจะมีวัตถุประสงค์อย่างอื่นด้วย เช่นปรับเปลี่ยนสีเนื้อไม้ให้สวยงามยิ่งขึ้นครับ
ขั้นตอนการปูตาม spec ของโรงงานโดยทั่วไป
1. เตรียมพื้นผิวที่จะปูให้เรียบไม่มีเศษหินหรือตะปู
2. ปูแผ่นยางรอง (underlay)
3. ปูแผ่นไม้เอนจิเนียริ่ง ( แบบเข้าลิ้น )
4. ตกแต่งส่วนที่จะชนกับผนังหรือเฟอร์นิเจอร์ด้วยคิ้วหรือลิ้นครอบตกแต่ง(ผลิตจากพลาสติกประเภท PVC (Polyvinylchloride)
จบทั้งสี่ขั้นตอนนี้ก็เป็นการเสร็จขั้นตอนมาตรฐานจากโรงงานผลิต ซึ่งรวดเร็วมากๆ แต่ข้อเสียคือเวลาเดินจะยวบๆ สำหรับคนที่เดินบนพื้นไม้จริงบ่อยๆจะรู้สึกได้ แต่ถ้าไม่ซีเรียสจนเกินไปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดการใช้ไม้ลงได้เยอะ